bg

SDG 10: (10.6.1) Non-discriminatory admissions policy

นโยบายความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความเป็นธรรม ในการบริหารทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อสังคม มีพันธกิจในการพัฒนาบุคคลที่มีคุณภาพและคุณธรรมให้แก่สังคม สร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพมีประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อสังคม การบริการวิชาการที่มีคุณภาพ จิตสำนึกและรับผิดชอบต่อสังคม ทำนุบำรุงวัฒนธรรมและศิลปะ รวมทั้งพัฒนาระบบบริหารที่มีคุณภาพและธรรมาภิบาล

มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของสังคมและสิ่งแวดล้อมในการทำงานจะเติบโตและขับเคลื่อนไปได้เมื่อทุกฝ่ายมีความเข้าใจ เชื่อมั่น ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เคารพสิทธิ ความเสมอภาค และความหลากหลายของบุคคล เพื่อให้บุคคลากรปฏิบัติงานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จึงได้วางนโยบายและแนวทางในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยภายใต้การเคารพสิทธิมนุษยชน หลักความเท่าเทียม มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความเสมอภาค ความเป็นธรรม และอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมในสถานที่ปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด โดยไม่เลิกปฏิบัติหรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใดๆไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมต่อ เชื้อชาติ สัญชาติ อายุ สีผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศสภาพ เพศวิถี สถานภาพการสมรส ความทุพพลภาพ ภูมิหลังด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยได้กำหนดแนวปฏิบัติของบุคลากรในมหาวิทยาลัย ดังนี้

(1) ตระหนักรู้ เห็นคุณค่าถึงความสำคัญของหลักความเท่าเทียม การเห็นคุณค่า ความหลากหลายของบุคคล เพื่อให้เกิดความยุติธรรม

(2) ปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่เลือกปฏิบัติ อยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในงาน

(3) ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมในกระบวนการจ้างงาน การสรรหาและคัดเลือก การประเมินผลการปฏิบัติงาน การฝึกอบรมพัฒนา ความก้าวหน้าตามสายอาชีพ
สิทธิประโยชน์และสวัสดิการ รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

(4) ตระหนักถึงการจ้างงานโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ไม่ใช้แรงงานบังคับ แรงงานทาส แรงงานเด็ก แรงงานที่มาจากการค้ามนุษย์ รวมถึงการลงโทษที่เป็นการทารุณต่อร่างกายหรือจิตใจ

(5) ปฏิบัติต่อพนักงานจ้างเหมาบริหาร (outsource) อย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมจากนายจ้างโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งใช้เกณฑ์การสรรหาและคัดเลือกผู้รับจ้างเหมาบริหารที่เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้

(6) บุคคลทุกเพศรวมทั้งผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งกายมาทำงานได้ตามความเหมาะสม ถูกกาลเทศะ โดยไม่จำเป็นต้องตรงตามลักษณะของเพศสภาพโดยกำเนิด

(7) ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศที่อาจเกิดขึ้นในการทำงาน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
(Update: วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2564)