Log In
bg

SDG 3: (3.3.6) Smoke-free policy

ประกาศมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
เรื่อง นโยบายคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และจัดเขตสูบบุหรี่ เป็นการเฉพาะ พ.ศ. 2564

ตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะเป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. 2561 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ลักษณะและวิธีการในการแสดงเครื่องหมาย เขตปลอดบุหรี่และเครื่องหมายเขตสูบบุหรี่ พ.ศ. 2561 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศดังกล่าวให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นสถานที่สาธารณะที่ต้องให้มีการคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยจัดสถานที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่เป็นการเฉพาะ เพื่อคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ และพัฒนามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสู่การเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 และ 34 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2559 จึงออกประกาศมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดังนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรื่อง นโยบายคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และจัดเขตสูบบุหรี่ เป็นการเฉพาะ พ.ศ. 2564”

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย และพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด เว้นแต่พื้นที่ที่จัดให้เป็นเขตสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะ

ข้อ 4 ให้โรงพยาบาล คลินิก สถานบริการสุขภาพ โรงเรียนสาธิต สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน หรือสนามเด็กเล่น ซึ่งอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าสถานที่ดังกล่าวจะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม รวมทั้ง ระยะ 5 เมตร จากทางเข้า - ออกของสถานที่ดังกล่าว เป็นเขตปลอดบุหรี่ ในกรณีสถานที่ตามวรรคหนึ่งไม่มีทางเข้า – ออกชัดเจน หรือเข้า – ออกได้ทุกทิศทาง การวัดระยะ 5 เมตร ให้วัดจากระยะจากเฉพาะขอบทางเข้า – ออกหลักที่ผู้ดำเนินการกำหนดให้เป็นทางเข้า – ออก ออกไป 5 เมตร

ข้อ 5 ให้รถสวัสดิการรับ – ส่งบุคลากรและนิสิตของมหาวิทยาลัย และสถานที่พักเพื่อรอรถสวัสดิการ ที่อยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด

ข้อ 6 ให้ส่วนงาน และหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย จัดพื้นที่ที่อยู่ในความดูแล เป็นเขตปลอดบุหรี่ โดยสภาพและลักษณะเขตปลอดบุหรี่ให้เป็นไปตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560

ข้อ 7 ส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย อาจกำหนดพื้นที่ที่อยู่ในความดูแล เป็นเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ เป็นการเฉพาะ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำส่วนงาน สภาพและลักษณะเขตสูบบุหรี่ให้เป็นไปตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560

ข้อ 8 ให้ส่วนงาน หรือหน่วยงาน ติดเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ โดยเปิดเผย มองเห็นได้ชัดเจน ในจำนวนที่เหมาะสม ในพื้นที่ที่อยู่ในความดูแล ดังต่อไปนี้
8.1 บริเวณทางเข้าหลักของมหาวิทยาลัย ส่วนงาน หน่วยงาน หรือพื้นที่สาธารณะที่มีการใช้ประโยชน์ร่วมกัน
8.2 บริเวณพื้นที่ภายนอกอาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ของส่วนงาน หรือหน่วยงาน
8.3 บริเวณทางเข้าหลักของอาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ของส่วนงาน หรือหน่วยงาน
8.4 บริเวณดาดฟ้าของอาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ของส่วนงาน หรือหน่วยงาน
8.5 ภายในรถสวัสดิการรับ – ส่งบุคลากรและนิสิตของมหาวิทยาลัย สถานที่พักคอยรถสวัสดิการของมหาวิทยาลัย
สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ลักษณะและวิธีการในการแสดงเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ และเครื่องหมายเขตสูบบุหรี่ พ.ศ. 2561

ข้อ 9 ในกรณีที่ส่วนงานกำหนดให้มีเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่เป็นการเฉพาะ ให้ดำเนินการติดเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ไว้โดยเปิดเผย มองเห็นได้ชัดเจน ภายในบริเวณที่จัดให้เป็นเขตสูบบหรี่ ในกรณีที่เขตสูบบุหรี่มีทางเข้าออกชัดเจน ให้ติดเครื่องหมายเขตสูบบุหรี่ ณ ทางเข้าเขตสูบบุหรี่ด้วย
สัญลักษณ์และเครื่องหมายเขตสูบบุหรี่ ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ลักษณะ และวิธีการในการแสดงเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ และเครื่องหมายเขตสูบบุหรี่ พ.ศ. 2561

ข้อ 10 ให้ส่วนงานหรือหน่วยงานมีการประชาสัมพันธ์หรือรณรงค์ให้เกิดแรงจูงใจในการลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ ของนิสิตและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย

ข้อ 11 ห้ามให้ส่วนงานหรือหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยรับเงินสนับสนุนหรือของรางวัลใดจากบริษัทบุหรี่หรือบริษัทที่เป็นตัวแทนของบริษัทบุหรี่ รวมถึงการส่งเสริมการขายบุหรี่ภายในมหาวิทยาลัย

ข้อ 12 ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้ กรณีที่มีปัญหาในการตีความ หรือปัญหาการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้อธิการบดีเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยถือเป็นที่สุด

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
(Update: วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2564)