Target | Indicator | Result |
---|---|---|
SDG 5
GENDER EQUALITY
|
The objective of this study was to test the short run and long run relationships among fertility, female labor force participation rate and childcare availability. Results showed that there was long run relationship between fertility and childcare availability which measured in term of number of child to nursery ratio however there was no long run relationship between fertility and female labor force participation rate. Moreover, there were short run relationship between childcare availability and fertility in all aged groups of females except female aged 25-34. There were also had short run relationship from the female aged 35-49 labor force participation rate to their fertility and the childcare availability. Childcare Availability Development, both in terms of accessibility and quality would increase fertility rate.
การศึกษานี้วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ในระยะสั้นและระยะยาวระหว่างภาวะเจริญพันธุ์ การ มีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของสตรีและความพร้อมในการดูแลบุตร ผลการศึกษาพบว่า ภาวะเจริญพันธุ์ของสตรี ทั้งในภาพรวมและจำแนกตามกลุ่มอายุของสตรีทุกกลุ่มมีความสัมพันธ์ในระยะยาวกับสัดส่วนจำนวนเด็กต่อสถานรับเลี้ยงเด็กซึ่งเป็นตัวแปรตัวแทนของความพร้อมในการดูแลบุตร แต่ไม่พบความสัมพันธ์ในระยะยาวระหว่างภาวะเจริญพันธุ์กับการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของสตรี และยังพบว่ามีความสัมพันธ์ในระยะสั้นระหว่างความพร้อมในการดูแลบุตรกับภาวะเจริญพันธุ์รวมของสตรีทั้งในภาพรวมและจำแนกตามกลุ่มอายุของสตรีทุกกลุ่ม ยกเว้นสตรีในกลุ่มอายุ 25-34 ปี ในขณะที่การมีส่วนในกำลังแรงงานของสตรีมีความสัมพันธ์ในระยะสั้นกับความพร้อมในการดูแลบุตรและภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีเฉพาะในกลุ่มอายุ 35-49 ปีเท่านั้น ดังนั้น การส่งเสริมการเข้าถึงและการพัฒนาคุณภาพของสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อนอาจส่งผลให้ภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
1. ผลกระทบมุมมองทางเศรษฐกิจ
1) ภาวะเจริญพันธุ์กับการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของสตรี
บุตรเป็นผลผลิตของครัวเรือนที่ให้อรรถประโยชน์แก่บิดามารดาและครอบครัว Becker (1960, pp. 209-231) ทรรศนะความต้องการมีบุตรหรืออุปสงค์ของการมีบุตรจึงถูกกำหนดอรรถประโยชน์ของบุตรภายใต้ต้นทุนสำหรับบิดามารดาทั้งด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู นอกจากนี้ Becker (1985, pp. 33-58) พบว่า สาเหตุที่สตรีนั้นมีบุตรลดลงเป็นเพราะทำให้สตรีโดยเฉพาะสตรีที่มีการศึกษาสูงสามารถที่จะตักตวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น การมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของสตรี ทำให้สตรีใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานในตลาดแรงงานและไม่มีเวลาเพียงพอที่ใช้ในการดูแลบุตร ส่งผลให้เกิดการลดลงของภาวะเจริญพันธุ์ (Willis, 1987, pp. 68-81) ลักษณะเช่นนี้สอดคล้องกับการศึกษาของ Buhari and Mürsel (2017, pp. 33-54) ที่พบว่าสตรีที่มีระดับการศึกษาระดับสูงสามารถหางานและได้รับค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าสตรีที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่า การลดจำนวนบุตรลงจึงถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การมีส่วนร่วมของสตรีในกำลังแรงงานนั้นสูงขึ้นในขณะที่สตรีที่มีบุตรจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงตลาดแรงงานเนื่องจากต้องทำงานภายในบ้านและขาดโอกาสที่จะได้ตักตวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในการเข้าร่วมในตลาดแรงงาน (De Tray, 1973, pp. 70-95) นอกจากนั้นผลจากการศึกษาของ Smith-Lovin and Tickamyer (1978, pp. 541- 557) พบว่า ภาวะเจริญพันธุ์มีความสัมพันธ์ในทิศทางลบต่อการจ้างงานในสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับการศึกษาของ Willis (1987, pp. 68-81; Hotz, Klerman and Willis, 1997, pp. 275-347) ที่พบว่ามีความสัมพันธ์ในเชิงลบระหว่างภาวะเจริญพันธุ์และการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรี และจากการศึกษาของ Liefbroer and Corijn (1999, pp. 45-75; Winkler-Dworak and Toulemon, 2007, pp. 273-314; Kreyenfeld, 2010,pp. 351-366; Ozcan, Mayer and Luedicke, 2010, pp. 807-846 and Santarelli, 2011, p. 311) ในปัจจัยเรื่องการมีงานทำของสตรีจากการศึกษาที่ผ่านมาโดยส่วนมากพบว่า การมีส่วนร่วมในการทำงานของสตรีส่งผลลบต่อภาวะเจริญพันธุ์โดยเฉพาะการมีบุตรคนแรก ในขณะที่การศึกษาของ Rica and Ferrero (2003, pp. 153–172) ในประเทศสเปน พบว่า การมีส่วนร่วมของแรงงานสตรีได้รับผลกระทบในเชิงลบอย่างมากจากภาวะเจริญพันธุ์ไม่ว่าภาวะเจริญพันธุ์จะเป็นตัวแปรภายนอกหรือตัวแปรภายใน นอกจากนี้ผลการศึกษาของ Heckman (1978, pp. 200-207) พบว่าในกระบวนการที่ทันสมัยมีความเกี่ยวข้องกับความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้น สังคมให้การยอมรับต่อการศึกษาและการจ้างงานของสตรีที่มากขึ้นส่งผลให้อัตราการเจริญพันธุ์นั้นลดลง
จากงานวิจัยต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีมีผลเชิงลบกับการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานสตรีโดยประเด็นสำคัญ คือ ปัจจัยเรื่องเวลา เนื่องจากเมื่อสตรีอยู่ในภาวะเจริญพันธุ์ ตั้งครรภ์และคลอดบุตร สตรีต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1-2 ปี ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จนกระทั่งคลอด ให้นมและเลี้ยงดูบุตรตลอดระยะเวลา 3-6 เดือน ทำให้การมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของสตรีจะค่อย ๆ ลดลง และถึงแม้จะผ่านช่วงนี้ไปแล้วแต่บุตรที่ยังเล็กก็จำเป็นที่ต้องได้รับการดูแลจากมารดาอย่างใกล้ชิด ทำให้สตรีบางคนลาออกจากงานเพื่อดูแลบุตร นอกจากนี้บทบาทหน้าที่ในครอบครัว บริบททางสังคมและวัฒนธรรม การเลี้ยงดูบุตรในระยะแรกจึงเป็นหน้าที่ของมารดา จึงส่งผลให้ภาวะเจริญพันธุ์มีผลเชิงลบต่อการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานสตรี
2) ความพร้อมในการดูแลบุตรกับการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของสตรี
ความพร้อมในการดูแลบุตร (Childcare availability : CA) มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรีในกำลังแรงงาน การศึกษาของ Floge (1989, pp. 51-63) พบว่า ครัวเรือนที่มีสมาชิกในครอบครัวสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ให้ดูแลบุตรแทนมารดาได้นั้นมีผลทำให้การมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของสตรีนั้นสูงขึ้น สำหรับครอบครัวที่ไม่มีสมาชิกคนอื่นช่วยดูแลเด็ก Nakamura and Ueda, 1999, pp. 73-89) สนับสนุนว่า การมีศูนย์ดูแลเด็กจะช่วยให้สตรีที่สมรสแล้วได้รับการจ้างงานที่ต่อเนื่องในภายหลังจากการคลอดบุตร ในขณะที่ Herbst and Barnow (2008, pp. 128-151). พบว่า การมีช่องทางการเลี้ยงดูบุตรที่เพิ่มขึ้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรีให้เพิ่มขึ้น สำหรับในประเทศไทย Kanjanachitra and Liengromruen (2014, pp. 26-27) พบว่า สตรีที่มีบุตรแล้วและได้รับความสนับสนุนจากครอบครัวในการเลี้ยงดูบุตรโดยครัวเรือนที่มีปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยงหรือดูแลบุตรทำให้มารดานั้นสามารถมีเวลาในการทำงานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Ikeda (2010, pp. 119-139) ที่พบว่าสตรีที่มีส่วนในการใช้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กและได้รับความช่วยเหลือในการดูแลเด็กจากสมาชิกในครอบครัวมีอัตราความต่อเนื่องในการทำงานสูงขึ้น ปัจจุบันสิ่งที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในสังคมไทย คือ โรงเรียนที่เป็นสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์รับเลี้ยงเด็ก เนื่องจากสภาพทางสังคมเปลี่ยนแปลง ในส่วนของสถานรับเลี้ยงเด็กที่เพิ่มขึ้นนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการเพิ่มจำนวนประชากรเด็ก แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรและโครงสร้างทางสังคม จากครอบครัวขยายกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว และบทบาทของสตรีในการประกอบอาชีพได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้น ทำให้หน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตรตกไปอยู่ที่โรงเรียนที่เป็นสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ในอดีตนั้นการทำงานของสตรีและบุรุษไม่ได้มีผลกระทบต่อการดูแลบุตร เพราะมีปู่ย่าตายายหรือญาติให้การช่วยเหลือ แต่ในปัจจุบันครอบครัวส่วนใหญ่มีขนาดสมาชิกจำนวนลดลง (พ่อ แม่ ลูก) หรือเป็นครอบครัวที่เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ไม่มีปู่ย่าตายายหรือญาติให้การช่วยเหลือ หรือครอบครัวโหว่กลาง อาทิ ยาย ตา และแม่ /หลาน ย่า แม่ เหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สตรีบางส่วนต้องออกจากกำลังแรงงานเพื่อมาดูแลบุตร หรือจำเป็นต้องส่งบุตรเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อให้ตนเองได้ทำงานได้อย่างเต็มที่
2. ผลกระทบมุมมองทางสังคม : ภาวะเจริญพันธุ์และความพร้อมในการดูแลบุตร
Presser and Baldwin (1980, pp. 1202–1213) ได้ทำการศึกษาพบว่า สตรีที่มีข้อจำกัดในการดูแล บุตร เช่น อาจไม่มีสมาชิกคนอื่นในครอบครัวช่วยดูแลเลี้ยงดูบุตรให้ หรือ ไม่สามารถเข้าถึงบริการการดูแลเลี้ยง บุตรได้นั้น ข้อจำกัดเหล่านี้มีย่อมส่งให้ภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีนั้นลดลงไปด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับผลการศึกษา ของ Baizan (2009, pp. 803–841) และ Rindfuss et al. (2010, pp. 725–748) พบว่า การได้รับการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นในด้านความพร้อมในการดูแลบุตรจะมีผลในเชิงบวกต่อภาวะเจริญพันธุ์ของสตรี ในขณะที่การศึกษาของ Castles (2003, 209-227) พบว่ามีความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างภาวะเจริญพันธุ์และการมีสถานเลี้ยงเด็กเล็ก สำหรับเด็กอายุต่ำกว่าสามปี จากผลการศึกษาในประเทศไทยของ Richter et al. (1994, pp. 651–662) พบว่า สตรีที่เผชิญกับข้อจำกัดด้านความพร้อมในการดูแลบุตรจะตอบสนองโดยการลดอัตราเจริญพันธุ์ลง และจากการศึกษาของ Kanjanachitra and Liengromruen (2014, pp. 26-27) พบว่าในหลายประเทศได้มีมาตรการเพื่อส่งเสริมอัตราการเกิด โดยมีนโยบายที่เสริมแรงจูงใจในการมีบุตรซึ่งเน้นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายโดยตรงและการให้สิทธิประโยชน์กับผู้มีบุตรเพื่อจูงใจให้อยากมีบุตรมากขึ้นเช่น การให้เงินค่าเลี้ยงดูบุตรรายเดือน การให้เงินโบนัสทารก เงินช่วยเหลือขณะตั้งครรภ์ เงินค่านมบุตร สิทธิการลดหย่อนภาษี และสิทธิในการกู้เงินโดยเสียดอกเบี้ยในอัตราต่ำ ถึงแม้ว่านโยบายเหล่านี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมภาวะเจริญพันธุ์โดยตรง แต่การให้เงินสนับสนุนเป็นการช่วยลดต้นทุนจากการมีบุตร ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจมีบุตรเพื่อช่วยเพิ่มอัตราภาวะเจริญพันธุ์ของประเทศในระยะยาวได้
สรุปได้ว่า ภาวะเจริญพันธุ์ ความพร้อมในการดูแลบุตร การส่งเสริมอัตราการเกิด การมีนโยบายจูงใจในการมีบุตรมีผลต่อการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของสตรี เนื่องจากภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีและนโยบายส่งเสริมอัตราการเกิดทำให้สตรีมีการตัดสินใจที่จะมีบุตร และเมื่อมีบุตรแล้วส่วนใหญ่ถ้าไม่มีความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตรก็จะทำให้ต้องออกจากงานเพื่อมาดูแลบุตร แต่ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวคอยช่วยเหลือหรือมีสถานรับเลี้ยงเด็กก็อาจจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แต่ถึงกระนั้นแนวโน้มการออกจากงานก็ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเนื่องจากในสังคมไทยบทบาทหลักในการเลี้ยงดูบุตร คือ สตรี นอกจากนี้ความรักความผูกพันระหว่างสตรีกับบุตรมีสายใยเชื่อมโยงกันในขณะตั้งครรภ์ สตรีส่วนใหญ่จึงเลือกการดูแลบุตรมากกว่าเลือกอาชีพการงาน