Log In
bg

โครงการบริการวิชาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษา กิจกรรม : การพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมในโครงการกองทุนการศึกษาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ด้วยกระบวนการ Coaching & Mentoring ในพื้นที่ 5 จังหวัด

Target Indicator Result
การศึกษาที่เท่าเทียม
SDG 4 QUALITY EDUCATION
ลดความเหลื่อมล้ำ
SDG 10 REDUCED INEQUALITIES
Caveat

ในปี พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการกองทุนการศึกษาขึ้น โดยทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 500 ล้านบาท ในการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ในการนี้ฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาและกำกับดูแลโครงการดังกล่าว สำหรับเป้าหมายของโครงการกองทุนการศึกษานั้น ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริว่าเพื่อ “สร้างคนดีสู่สังคม” สืบเนื่องจากเด็ก/เยาวชนและประชาชนทุกวันนี้ขาดคุณธรรมจริยธรรมในการดำรงชีวิต สังคมขาดความสงบสุข มีความแตกแยกทางความคิด ขาดความสามัคคี ทุจริตคอรัปชั่น และขาดแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน เป็นต้น โดยพระองค์มีกระแสพระราชดำรัสว่าการปลูกฝังความดีงามให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก ๆ นั้นต้องกระทำตั้งแต่พวกเขายังอยู่ในช่วงวัยเยาว์ ด้วยเหตุที่ว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้น การปลูกฝังให้เด็กเป็นคนดีจึงต้องเริ่มกระทำทั้งในสถาบันครอบครัวและในสถานศึกษา โดยเฉพาะสถานศึกษานั้นมีบทบาทสำคัญยิ่งในการอบรมบ่มนิสัยเด็ก ๆ สำหรับโครงการกองทุนการศึกษาที่เริ่มดำเนินการในปี 2555 นั้น นับเป็นรุ่นที่ 1 ของโครงการ พร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งให้อาจารย์ สมปอง ใจดีเฉย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในช่วงเวลานั้น เป็นประธานคณะทำงาน “โครงการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมในโครงการกองทุนการศึกษา” โดยเริ่มทดลองดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายภาคกลางและตะวันออก 20 โรงเรียน 8 จังหวัด ก่อน ได้แก่ อยุธยา ลพบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว เมื่อได้ผลอย่างไรแล้วจะขยายพื้นที่ดำเนินการไปยังภูมิภาคอื่นของประเทศในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งนับถึงปัจจุบันนี้โครงการกองทุนการศึกษาได้ขยายผลไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศแล้ว จำนวน 155 โรงเรียน ซึ่งการดำเนินงานโครงการกองทุนการศึกษานั้นมีโครงการย่อยของโครงการนี้หลายโครงการ อาทิ การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจน การซ่อมและสร้างบ้านพักให้คุณครูได้พักอาศัยอย่างมีความสุข การซ่อมและสร้างหอพักให้นักเรียนบ้านไกล (กรณีอยู่โรงเรียนประจำ) การซ่อมบำรุงระบบ ICT และห้องสมุดของโรงเรียนให้พร้อมใช้งาน การอบรมพัฒนาศักยภาพการเรียน การสอนของครูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และการพัฒนาโรงเรียนเหล่านั้นให้เป็นโรงเรียนคุณธรรม เป็นต้น โดยการดำเนินงานดังกล่าวตั้งแต่ช่วงรุ่นที่ 1 เป็นต้นมานั้น ทางคณาจารย์ บุคลากร ศิษย์เก่า และนิสิตของคณะศึกษาศาสตร์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมสนองพระราชดำริฯ มาโดยตลอด ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าโดยไม่จำกัดพื้นที่ เชื้อชาติ ศาสนา และฐานะทางเศรษฐกิจ ทรงพระราชทานน้ำพระทัยผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ หลายพันโครงการกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นผลให้พสกนิกรอยู่เย็นเป็นสุขเสมอมา รวมทั้งพระราชทานโครงการกองทุนการศึกษานี้ขึ้นมาโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น โดยทรงมุ่งหวังที่จะให้ระบบการศึกษาช่วยบ่มเพาะเด็ก ๆ และเยาวชนผู้ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติและโลกใบนี้ให้เติบโตไปเป็นคนดีในอนาคต และด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงได้มีหลากหลายบุคคลและหลากหลายหน่วยงานมาร่วมกันทำงานสนองแนวพระราชดำรินี้ด้วยเช่นกัน เช่น ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น
ทางภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งมีคณาจารย์ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการความรู้คู่ความดีมาอย่างยาวนาน โดยมีผลงานการวิจัยเป็นที่ปรากฎและเผยแพร่มากมาย อาทิ งานวิจัยเรื่องการวิจัย พัฒนา และประเมินผลโครงการส่งเสริมสถานศึกษาต้นแบบศูนย์การเรียนรู้สู่ครอบครัวอบอุ่น 4 ภูมิภาคของประเทศ (หนังสือเผยแพร่ 5 โรงเรียนต้นแบบเสริมสร้างครอบครัวอบอุ่น, 2553-2554) การสังเคราะห์องค์ความรู้กระบวนการสร้างโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรมจริยธรรม (2555) ซึ่งจัดพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่มา 5 ครั้ง แล้ว ในชื่อของ “บางมูลนากโมเดล” การศึกษาวิจัยกระบวนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมจริยธรรม (2556) การวิจัย พัฒนา และประเมินผลโครงการกองทุนการศึกษา รุ่นที่ 1 (2557) ซึ่งจัดทำเป็นหนังสือเผยแพร่มาแล้ว 6 ครั้ง ในชื่อ “เด็กดีสร้างได้” และโครงการบริการวิชาการแก่สังคม (บก. มศว) รองรับอย่างหลากหลายและทำงานสนองพระราชดำริมาโดยตลอด รวมทั้งโครงการคาราวานเสริมสร้างเด็ก และโครงการคาราวานส่งเสริมการอ่านในเด็กปฐมวัยสำหรับครูและผู้ปกครองในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้พัฒนาหลักสูตร วิทยากร และดำเนินการวิจัยให้กับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิรักษ์ไทย ภายใต้องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดเช่นกัน และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของทั้ง 2 พระองค์ท่าน อย่างหาที่สุดมิได้ รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของการให้ความรู้ ส่งเสริม และปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรมให้กับเยาวชนโดยใช้ทุนทางปัญญาและทุนทางสังคมของคณาจารย์ที่มีอยู่ (หลักสูตร องค์ความรู้ แหล่งเรียนรู้เชิงคุณธรรม ประสบการณ์ในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม และผลงานวิจัยที่เป็นที่เผยแพร่และได้รับการยอมรับมากมายในวงกว้างดังกล่าวแล้วบางส่วนข้างต้น) รวมทั้งมีความพร้อมในการดำเนินการด้านการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเด็กและเยาวชนผู้ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตอย่างเต็มที่ จึงได้ประชุมระดมความคิดร่วมกับนักวิชาการส่งเสริมคุณธรรมของศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และศึกษานิเทศก์ในพื้นที่เป้าหมาย ได้ความเห็นตรงกันว่าจะจัดทำโครงการบริการวิชาการแก่สังคมเพื่อสนองพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และตามพระราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ว่า “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา ได้แก่ (1) มีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง (2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง (3) มีงานทำ มีอาชีพ และ (4) เป็นพลเมืองดีมีระเบียบวินัย ทั้งนี้เพื่อพัฒนาให้เด็กและเยาวชนเป็นคนดีของสังคมนั่นเอง
สำหรับโครงการบริการวิชาการที่ทางคณจารย์ภาควิชาหลักสูตรและการสอน จะร่วมกันดำเนินงาน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อสนองพระราชดำริฯ นั้น คือ “โครงการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมในโครงการ กองทุนการศึกษาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ด้วยกระบวนการ Coaching & Mentoring ในพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด” ในลักษณะการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอดุมศึกษา (ในส่วนของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ทั้งในส่วนของ สพป. และ สพม. ในพื้นที่เป้าหมาย) กระทรวงวัฒนธรรม (ในส่วนของศูนย์คุณธรรม) และกระทรวงมหาดไทย (อบจ./อบต./เทศบาลในจังหวัดพื้นที่เป้าหมาย) รวมทั้งหน่วยงานราชการและองค์กรเอกชนอื่น ๆ ตลอดจนบ้าน วัด/โบสถ์/มัสยิด และโรงเรียนในพื้นที่ ที่จะเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืนโดยผ่านทางกระบวนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม ซึ่งจะเกิดผลลัพธ์คือเด็กดีสร้างได้ คุณธรรมทุกพื้นที่ ความดีทั้งโรงเรียน ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง และสังคมคุณภาพในที่สุด โดยจะดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด (ซึ่งได้ดำเนินการนำร่องไปแล้วในปี พ.ศ. 2565 ร่วมกับศูนย์คุณธรรม) ได้แก่ เพชรบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว) เพื่อพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่เป้าหมายให้เป็นโรงเรียนคุณธรรมและเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงคุณธรรมต้นแบบของจังหวัดนั้น ๆ และเพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับศึกษาดูงานและเป็นพี่เลี้ยงในการต่อยอดขยายผลโครงการในระดับจังหวัดและภูมิภาคต่อไป ทั้งนี้เพื่อสร้างคนดีให้บ้านเมืองบนฐานคิดที่ว่า "การศึกษาคือเครื่องมือในการพัฒนาคนนั่นเอง และประเทศจะพัฒนาไปได้ก็ต้องพัฒนาคนก่อน ซึ่งเมื่อคนได้รับการพัฒนา กล่าวคือ มีอาวุธทางปัญญา สามารถคิดวิเคราะห์ แยกแยะ และคิดวิจารณญาณได้แล้วพฤติกรรมเชิงลบที่เป็นปัญหาอยู่ดังเช่นสถานการณ์ในปัจจุบันก็จะเปลี่ยนไป ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมก็จะลดน้อยลงไปได้ ดังนั้น กระบวนการพัฒนาเด็กให้เติบโตไปเป็นพลเมืองดีจึงต้องผ่านทางกระบวนการจัดการศึกษา ซึ่งเด็กในโรงเรียนก็จะได้รับการพัฒนาทั้ง IQ, EQ และ MQ อย่างต่อเนื่องเป็นระบบตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และตลอดช่วงชีวิต โดยผ่านกิจกรรมที่หลากหลายและสร้างสรรค์โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของบ้าน วัด/มัสยิด/โบสถ์ โรงเรียน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งเกิดสังคมที่อุดมไปด้วยคนดีในที่สุด" รวมทั้งเพื่อสนองพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 อีกด้วย โดยใช้กระบวนการ Coaching & Mentoring ในลักษณะเพื่อนคู่คิด มิตรคู่ใจ ด้วยการไปนิเทศ ติดตาม ประเมิน จัดกิจกรรม และเสริมพลังการทำงานในพื้นที่จริง รวมไปถึงจัดให้มีการวิจัยและพัฒนาในลักษณะการวิจัย R & D ที่เรียกว่าการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ร่วมด้วย

Impact Level
Impact

1. มีโรงเรียนในโครงการกองทุนฯ ในพื้นที่เป้าหมายเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
2. โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาให้เป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้เชิงคุณธรรม

Faculty of Education
Ms. Rachaya Matewat
4 Jul 23 14:46