bg

โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย ประเภทประกาศนียบัตร (Non-Degree) หลักสูตรการฝึกอบรมการสร้างวัฒนธรรมการอ่านโดยอาศัยความร่วมมือ รวมพลังทั้งในระดับครอบครัว ห้องเรียน โรงเรียน ชุมชน

Target Indicator Result
การศึกษาที่เท่าเทียม
SDG 4 QUALITY EDUCATION
ลดความเหลื่อมล้ำ
SDG 10 REDUCED INEQUALITIES
ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
SDG 17 PARTNERSHIPS FOR THE GOALS
Caveat

การปฏิรูปการศึกษา มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และปฏิรูประบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและตอบโจทย์การพัฒนาของโลกอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนทุกกลุ่มวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีทักษะที่จำเป็นของโลกอนาคต สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผล มีนิสัยใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และเป็นพลเมืองที่รู้สิทธิและหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรักและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย โดยมีขอบเขตครอบคลุม ทั้งการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 นำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ที่บัญญัติให้มีการดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รวมทั้งสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และ มาตรา 258 (4) ที่ครอบคลุมทั้งการพัฒนาเด็กเล็ก การสร้างโอกาสทางการศึกษา การปรับปรุงการจัด การเรียนการสอน และการพัฒนาครู และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่เน้นการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 การพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาที่หลากหลาย การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมที่ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการศึกษา
การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกข้อที่ 4 (UN SDG4) และเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนากำลังคนของประเทศให้สามารถสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย ให้สามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) สู่การเป็นประเทศรายได้สูง (High Income Country) ให้ได้ภายใน 20 ปีตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งจุดริเริ่มที่ทำให้เกิดโครงการนี้มาจากยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล นโยบายที่สำคัญ ดังนี้
- ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ในประเด็นเป้าหมาย คนไทยเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ พร้อมสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 และสังคมไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนต่อการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต และด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ในประเด็นเป้าหมาย สร้างความเป็นธรรมและลดความเหล่ือมล้ำในทุกมิติ และกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกาลังของการพัฒนาประเทศในทุกระดับ
- แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 120101 คนไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีทักษะการเรียนรู้และทักษะที่จำเป็นของโลกศตวรรษที่ 21 สามารถเข้าถึงการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตดีขึ้น
- แผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการศึกษา เรื่องที่ 3 : การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีประเด็นปฏิรูป 3 ประเด็น ได้แก่
• การดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
• การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลพิการ บุคคลที่มีความสามารถพิเศษ และบุคคลที่มีความต้องการ การดูแลเป็นพิเศษ
• การยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล หรือในสถานศึกษาที่ต้องมี
การยกระดับคุณภาพอย่างเร่งด่วน
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์ 122 การพัฒนาแห่งอนาคต
เป้าหมายที่ 1 คนไทยได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพในทุกช่วงวัย มีสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ มีคุณลักษณะตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคม มีคุณธรรม จริยธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมฉับพลันของโลก สามารถดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข
กลยุทธ์ที่ 1 การพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยในทุกมิติ
กลยุทธ์ย่อยที่ 1.2 พัฒนาผู้เรียนระดับพื้นฐานให้มีความตระหนักรู้ในตนเอง มีสมรรรถนะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ การดำรงชีวิตและการทำงาน
- นโยบายของรัฐบาล ข้อที่ 4 การศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
นอกเหนือจากแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้ว สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิค 2019 ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในทุกมิติ กระทรวงศึกษาธิการได้ติดตามสถานการณ์หาแนวทางป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องด้วยมาตรการของรัฐบาลทำให้ต้องมีการเลื่อนเปิดเทอมช้ากว่าปฏิทินกำหนด โดยวันเรียนหายไปรวมประมาณ ร้อยละ 10 ของเวลาเรียนทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2565) ข้อมูลจากงานวิจัยของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้ศึกษาสภาพปัญหาของภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของผู้เรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น ปีที่ 1-3 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากนักเรียนและครูทั่วประเทศ ปรากฏว่าเกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ด้านความรู้และภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ด้านทักษะการอ่านและคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะการรับรู้ภาวะถดถอยเชิงผลสัมฤทธิ์ในรายวิชาภาษาไทยซึ่งมีค่าเฉลี่ยถดถอยมากที่สุด รวมถึงคุณลักษณะของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ไม่กล้าตอบคำถาม การขาดการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ สัมพันธภาพและการทำงานร่วมกับผู้อื่นลดลง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดแรงจูงใจ ความสนใจและความมั่นใจของนักเรียนลดลงด้วยผลจากการเรียนในรูปแบบออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่นักเรียนบางคนมีความไม่พร้อมของสื่ออุปกรณ์และเทคโนโลยีการเรียนรู้ และส่งผลไปถึงสัมพันธภาพระหว่างครูกับนักเรียนที่ลดน้อยลง (อิทธิพัทธ์ สุวทันพรกุล และคณะ, 2565)
ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในด้านการอ่านและภาษาสะท้อนสถานการณ์การอ่านของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นผลจากการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (reading literacy) ของ PISA (Program for International Student Assessment) หรือ โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่การเปลี่ยนแปลงโดยประเมินจากนักเรียนอายุ 15 ปี จากทุกประเทศ โดยได้ดำเนินการทดสอบมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 และมีการประเมินอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 3 ปี
การประเมินครั้งล่าสุด เมื่อ ค.ศ.2022 มีประเทศเข้าร่วม 80 ประเทศ ผลการทดสอบด้านความฉลาดรู้ทางการอ่านของนักเรียนไทยมีเพียง ร้อยละ 0.2 ที่มีความสามารถทางการอ่านในระดับสูง (ระดับ 5 และระดับ 6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด) นักเรียนไทยจำนวนมากถึง ร้อยละ 60 มีความสามารถในการอ่านต่ำกว่าระดับพื้นฐาน (ต่ำกว่าระดับ 2) และนักเรียนไทยอีกร้อยละ 26 อยู่ในระดับพื้นฐาน (ระดับ 2) ส่วนประเทศสมาชิกอื่น ๆ นักเรียนมีความสามารถในการอ่านอยู่ในระดับมากกว่าระดับพื้นฐานร้อยละ 45 (ระดับ 3 และระดับ 4) โดยเฉพาะการประเมินในระหว่างปี ค.ศ.2015 กับ ค.ศ.2018 ที่นักเรียนไทยมีคะแนนการอ่านลดลงถึง 16 คะแนน แสดงว่านักเรียนไทยส่วนมากยังไม่สามารถทำความเข้าใจกับบทอ่านที่มีความยาวและจัดการกับแนวคิดที่เป็นนามธรรมหรือขัดเกลาความรู้สึกได้ และยังไม่สามารถแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นจากสิ่งชี้บอกโดยนัยที่อยู่ในบทอ่านได้ นอกจากนี้ยังพบว่านักเรียนไทยทั้งกลุ่มที่มีคะแนนสูงและกลุ่มที่มีคะแนนต่ำต่างก็มีจุดอ่อนอยู่ที่ด้านการอ่านเช่นเดียวกัน ดังนั้นการยกระดับความสามารถทางการอ่านของนักเรียนจึงถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับระบบการศึกษาไทย ซึ่งผลประเมินทั้งคะแนนและสัดส่วนนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับพื้นฐานด้านการอ่านยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ในทุกรอบการประเมินที่ผ่านมาโดยเฉพาะการอ่าน (นันทวัน สมสุข และ สุชาดา ปัทมวิภาต, 2565) การทดสอบของ PISA สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของธนาคารโลก (World Bank, 2015) ที่ตั้งข้อสังเกตว่าการไม่รู้หนังสือ (illiteracy) เป็นความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญ โรงเรียนในประเทศไทยทุกแห่งทั้งในเขตเมืองขนาดใหญ่ จังหวัด และหมู่บ้าน มีจำนวนนักเรียนอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการรู้หนังสือหรือความฉลาดรู้ (functionally illiterate student) กระจายอยู่ในโรงเรียนทุกแห่ง นักเรียนที่ไม่รู้หนังสือส่วนมากกระจุกตัวอยู่ในหมู่บ้านมากถึงร้อยละ 47.2 เมืองเล็กระดับอำเภอและตำบลมากถึง ร้อยละ 30.6 และอยู่ในเมืองใหญ่ก็ยังมีจำนวนมากถึงร้อยละ 15.5 โดยมีจำนวนนักเรียนเพียงหนึ่งในสามของนักเรียนทั้งประเทศเท่านั้นที่อ่านออกเขียนได้
การพัฒนาความฉลาดรู้พื้นฐานที่เน้นการอ่านออกเขียนได้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะการพัฒนาให้เด็กนักเรียนปฐมวัยและนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้นซึ่งถือเป็นวัยเชื่อมต่อการเรียนรู้ที่จะกำลังเปลี่ยนผ่านการเรียนรู้จากการเรียนรู้ที่เน้นการจัดประสบการณ์และการส่งเสริมพัฒนามาสู่การเรียนรู้ที่เป็นนามธรรมมากยิ่งขึ้น (ยศวีย์ สายฟ้า, 2557) การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กในวัยอายุ 5-7 ปี เนื่องจากเป็นวัยเริ่มเรียนต้องพัฒนาการต่าง ๆ การจัดประสบการณ์ให้มีการพัฒนารอบด้าน ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา เพื่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ที่ดีถือเป็นการวางรากฐานสำคัญในการเตรียมความพร้อมการเรียนรู้ของเด็กในวัยนี้ก่อนที่จะก้าวสู่การเรียนในขั้นสูงต่อไป นอกจากนั้น การส่งเสริมรากฐานการเรียนรู้ของเด็กยังเป็นพื้นฐานในการสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตอีกด้วยและเมื่อเด็กวัยนี้ได้รับการเตรียมตัวหรือวางพื้นฐานด้านพัฒนาการไว้ดีและเหมาะสมยังสามารถจัดการเรียนกระบวนการเรียนรู้เพื่อฝึกให้เด็กเกิดการเรียนรู้ มีจิตนาการที่ดี ช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพซึ่งเป็นการวางรากฐานชีวิตให้มั่งคงให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นต่อไปในสังคมได้อย่างมีความสุข (ชุติมา เล็กพงศ์, 2565)
การเรียนรู้อย่างมีความหมายสำหรับเด็กในวัยเชื่อมต่อแห่งการเรียนรู้มีเป้าหมายสำคัญคือการเสริมความสุขในการเรียนรู้โดยผู้ใหญ่ ประกอบด้วย แม่ พ่อ ผู้เลี้ยงดูเด็ก ครู และบุคลากรในโรงเรียนมีบทบาทที่สำคัญและเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสัมพันธ์รายรอบตัวเด็กในรอยเชื่อมต่อจากระดับปฐมวัยสู่ประถมศึกษา การสร้างความพร้อม เสริมความสุขให้กับเด็กโดยการทำให้เกิดสภาพความเหมาะสมของเด็กในการกระทำกิจกรรมให้บรรลุผลสำเร็จราบรื่นสอดคล้องกับพัฒนาการ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาอย่างสมดุลทุกพัฒนาการ มีการบูรณาการการดำเนินกิจกรรมในชั้นเรียนเพื่อเสริมสร้างพลังในการขับเคลื่อนการสร้างคุณภาพของเด็กอย่างเป็นองค์รวม การสร้างความพร้อมเสริมความสุขในรอยเชื่อมต่อจากระดับอนุบาลสู่ระดับประถมศึกษานับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในช่วงวงจรชีวิตของเด็ก (สิรินทร์ ลัดดากลม บุญเชิดชู, 2565) ทั้งนี้กุญแจสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นต้องเริ่มจากการอ่านที่นำมาซึ่งความสุขความเพลิดเพลินแก่เด็ก แล้วจึงค่อย ๆ ยกระดับความเพลิดเพลินเป็นการพัฒนาปัญญาเพื่อนำสู่สุขภาวะในวิถีชีวิตทั้งในระดับปัจเจก และระดับสังคม และการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้กับเด็กต้องอาศัยความร่วมมือรวมพลังทั้งใน ระดับโรงเรียน ห้องเรียน ครอบครัว ชุมชน ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง นักวิชาการและนิสิตครูเป็นผู้ ร่วมเรียนรู้ในการจัดกระบวนการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านที่เหมาะสมกับบริบทของเด็ก
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจในเรื่องของการส่งเสริมการเรียนรู้แก่กลุ่มคนทุกช่วงวัย เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาสร้างวัฒนธรรมการอ่านโดยอาศัยความร่วมมือรวมพลังทั้งในระดับ ครอบครัว ห้องเรียน โรงเรียน ชุมชน ให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ดังนั้น คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงจัดการอบรมการฝึกอบรมการสร้างวัฒนธรรมการอ่านโดยอาศัยความร่วมมือรวมพลังทั้งในระดับ ครอบครัว ห้องเรียน โรงเรียน ชุมชน ขึ้น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลักสูตรนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับเด็ก ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีพันธกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในระดับหน่วยงาน องค์กร และประเทศชาติต่อไป

Impact Level
Impact

Faculty of Education
Ms. Somruthai Huttha
26 Sep 24 10:49