Log In
bg

Academic Service Project To Reduce Inequality And Raise The Quality Of Education Activity : Moral School Development Under The Royal Education Fund Project Phetchaburi Province And Prachuap Khiri Khan Province.

Target Indicator Result
การศึกษาที่เท่าเทียม
SDG 4 QUALITY EDUCATION
ลดความเหลื่อมล้ำ
SDG 10 REDUCED INEQUALITIES
Caveat

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาทางด้านการเมือง ความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็ก เยาวชน และประชาชน รวมไปถึงปัญหาการขาดคุณธรรมทั้งด้านความซื่อสัตย์สุจริต การขาดวินัย จิตสำนึกรับผิดชอบ จิตอาสา/จิตสาธารณะ และความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกัน ดังจะเห็นได้จากสถานการณ์ข่าวที่สื่อมวลชน และสื่อ Social media แขนงต่าง ๆ ได้นำเสนอให้ทราบกันเป็นประจำทุกวัน ทั้งปัญหาด้านการประท้วงทางการเมืองที่รุนแรง และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด 19 ในกลุ่มประชาชนและคลัสเตอร์ต่าง ๆ ที่ยากต่อการจัดการและการควบคุมโรค ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากปัญหาการขาดคุณธรรมจริยธรรมของกลุ่มเด็ก เยาวชน และประชาชนบางกลุ่มดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง ทำให้สถานการณ์ของบ้านเมืองอยู่ในสภาวะตึงเครียด ขาดความสงบเรียบร้อย ประชาชนแตกแยกทางความคิดและขาดความสามัคคีกันอย่างเห็นได้ชัด จึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ต่อการดำเนินชีวิตของเด็กเยาวชน และประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เป็นผลให้การดำเนินภารกิจในชีวิตประจำวันของผู้ที่ได้รับผลกระทบเดือดร้อนและเสียหายไปด้วย เช่น การหยุดเรียน
การเดินทาง การค้าขาย/ประกอบอาชีพ การท่องเที่ยว การจราจร ความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ธุรกิจ/การค้า ความสัมพันธ์และภาพลักษณ์ของคนไทยและประเทศไทยในสายตาต่างประเทศ อันจะนำมาซึ่งภาวะเศรษฐกิจชะลอดตัวและตกต่ำในที่สุดเป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยมานานหลายปีและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตามสถานการณ์ในปัจจุบันที่พวกเราทุกคนพบเห็นกันอยู่ ทำให้การพัฒนาประเทศของเราต้องล่าช้ากว่านานาประทศ ใช้งบประมาณการลงทุนจำนวนมาก แต่ไม่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่คุ้มค่า คุณภาพชีวิตของประชาชนตกต่ำ คนในสังคมบางกลุ่มเริ่มเห็นผิดเป็นชอบ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่ช่วยกันตรวจสอบและเฝ้าระวัง เพิกเฉยและชินชากับกระบวนการและขบวนการของกลุ่มคนที่ปลุกปั่นและสร้างความแตกแยกทางสังคมกลุ่มคนที่ทุจริตคอรัปชั่น ชี้ให้เห็นว่าความดีความงาม/คุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคมไทยมีแนวโน้มเสื่อมถอยลงไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากกระบวนการพัฒนาประเทศแต่เดิมนั้นส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาด้านวัตถุมากกว่าด้านจิตใจ ทำให้รูปแบบของสังคมไทยที่เคยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีมิตรจิตมิตรใจ สุภาพเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักมารยาทและกาลเทศะ สงบร่มเย็น รู้รักสามัคคี และมีวัฒนธรรมที่ดีงามเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากปัญหาที่กดดันทางสังคมดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมอื่น ๆ อีก ได้แก่ สภาพความด้อยโอกาสทางการศึกษา (ไม่ทั่วถึง/ไม่เท่าเทียม/ไม่มีประสิทธิภาพ) การแตกแยกและขาดความอบอุ่นจากสถาบันครอบครัว ปัญหาความยากจน ความบกพร่องของการจัดการศึกษาเพื่อปลูกฝังความดีงามให้กับเยาวชนของสถาบันการศึกษา การขาดจริยธรรมในการดำรงชีวิต ความคึกคะนอง การถูกชักชวน การขาด (ผู้ใหญ่) ต้นแบบ/ตัวอย่างที่ดี และแรงบีบคั้นกดดันจากสังคมภายนอก เป็นต้น ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยตกต่ำลง เกิดปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมา ส่งผลให้ประเทศไทยมีพลเมืองจำนวนหนึ่งที่ค่อนข้างด้อยคุณภาพ การพัฒนาด้านต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างช้า ๆ และมักจะมีปัญหาควบคู่ไปกับการพัฒนาเสมอ ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการแก้ปัญหาเหล่านี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรีบดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เด็กไทย/คนไทย "คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น" ทั้งนี้เพราะสาเหตุของปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นก็เกิดจากพฤติกรรมที่เรียกว่า "ขาดการคิดวิเคราะห์" นั่นเอง
ในปี พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
บรมนาถบพิตรทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการกองทุนการศึกษาขึ้น โดยทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 500 ล้านบาท ในการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ในการนี้ฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาและกำกับดูแลโครงการดังกล่าว สำหรับเป้าหมายของโครงการกองทุนการศึกษานั้น ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริว่าเพื่อ “สร้างคนดีสู่สังคม” สืบเนื่องจากเด็ก/เยาวชนและประชาชนทุกวันนี้ขาดคุณธรรมจริยธรรมในการดำรงชีวิต สังคมขาดความสงบสุข มีแต่ความแตกแยก แตกความสามัคคี ทุจริตคอรัปชั่น ขาดแบบอย่างที่ดี เป็นต้น โดยพระองค์มีกระแสพระราชดำรัสว่าการปลูกฝังความดีงามให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก ๆ นั้นต้องกระทำตั้งแต่พวกเขายังอยู่ในช่วงวัยเยาว์ ด้วยเหตุที่ว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้น การปลูกฝังให้เด็กเป็นคนดีจึงต้องเริ่มกระทำทั้งในสถาบันครอบครัวและในสถานศึกษา โดยเฉพาะสถานศึกษานั้นมีบทบาทสำคัญยิ่งในการอบรมบ่มนิสัยเด็ก ๆ สำหรับโครงการกองทุนการศึกษาที่เริ่มดำเนินการในปี 2555 นั้น นับเป็นรุ่นที่ 1 ของโครงการ พร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งให้อาจารย์ สมปอง ใจดีเฉย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในช่วงเวลานั้นเป็นประธานคณะทำงาน “โครงการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมในโครงการกองทุนการศึกษา” โดยเริ่มทดลองดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายภาคกลางและตะวันออก 20 โรงเรียน 8 จังหวัด ก่อน ได้แก่ อยุธยา ลพบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว เมื่อได้ผลอย่างไรแล้วจะขยายพื้นที่ดำเนินการไปยังภูมิภาคอื่นของประเทศในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งนับถึงปัจจุบันนี้โครงการกองทุนการศึกษาได้ขยายผลไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศแล้ว จำนวน 155 โรงเรียน ซึ่งการดำเนินงานโครงการกองทุนการศึกษานั้นมีโครงการย่อยของโครงการนี้หลายโครงการ อาทิ การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจน การซ่อมและสร้างบ้านพักให้คุณครูได้พักอาศัยอย่างมีความสุข การซ่อมและสร้างหอพักให้นักเรียนบ้านไกล (กรณีอยู่โรงเรียนประจำ) การซ่อมบำรุงระบบ ICT และห้องสมุดของโรงเรียนให้พร้อมใช้งาน การอบรมพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนของครู
ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และการพัฒนาโรงเรียนเหล่านั้นให้เป็นโรงเรียนคุณธรรม เป็นต้น โดยการดำเนินงานดังกล่าวตั้งแต่ช่วงรุ่นที่ 1 เป็นต้นมานั้น ทางคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตของคณะศึกษาศาสตร์ได้เข้าไปมี ส่วนร่วมสนองพระราชดำริฯ มาโดยตลอด
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าโดยไม่จำกัดพื้นที่ เชื้อชาติ ศาสนา และฐานะทางเศรษฐกิจ ทรงพระราชทานน้ำพระทัยผ่านโครงการอันเนื่องมา
จากพระราชดำริฯ หลายพันโครงการกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นผลให้พสกนิกรอยู่เย็นเป็นสุขเสมอมา รวมทั้งพระราชทานโครงการกองทุนการศึกษานี้ขึ้นมาโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น โดยทรงมุ่งหวังที่จะให้ระบบการศึกษาช่วยบ่มเพาะเด็ก ๆ และเยาวชนผู้ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติและโลกใบนี้ในอนาคตให้เติบโตไปเป็นคนดี และด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงได้มีหลากหลายบุคคลและหลากหลายหน่วยงานมาร่วมกันทำงานสนองแนวพระราชดำรินี้ด้วยเช่นกัน
ทางภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งมีคณาจารย์ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการความรู้คู่ความดีมาอย่างยาวนาน โดยมีผลงานการวิจัยเป็นที่ปรากฎและเผยแพร่มากมาย อาทิ งานวิจัยเรื่องการวิจัย พัฒนา และประเมินผลโครงการส่งเสริมสถานศึกษาต้นแบบศูนย์การเรียนรู้สู่ครอบครัวอบอุ่น 4 ภูมิภาคของประเทศ (หนังสือเผยแพร่ 5 โรงเรียนต้นแบบเสริมสร้างครอบครัวอบอุ่น, 2553-2554) การสังเคราะห์องค์ความรู้กระบวนการสร้างโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรมจริยธรรม (บางมูลนากโมเดล, 2555) การศึกษาวิจัยกระบวนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมจริยธรรม (2556) การวิจัย พัฒนา และประเมินผลโครงการกองทุนการศึกษา รุ่นที่ 1 (2557) หนังสือเด็กดีสร้างได้ และโครงการบริการวิชาการแก่สังคม (บก. มศว) รองรับอย่างหลากหลายและทำงานสนองพระราชดำริมาโดยตลอด รวมทั้งโครงการคาราวานเสริมสร้างเด็ก และโครงการคาราวานส่งเสริมการอ่านในเด็กปฐมวัยสำหรับครูและผู้ปกครองในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้พัฒนาหลักสูตร วิทยากร และดำเนินการวิจัยให้กับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิรักษ์ไทย ภายใต้องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดเช่นกัน และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของทั้ง 2 พระองค์อย่างหาที่สุดมิได้ รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของการให้ความรู้ ส่งเสริม และปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรมให้กับเยาวชนโดยใช้ทุนทางปัญญาและทุนทางสังคมของคณาจารย์ที่มีอยู่ (หลักสูตร องค์ความรู้ แหล่งเรียนรู้เชิงคุณธรรม ประสบการณ์ในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม และผลงานวิจัยที่เป็นที่เผยแพร่และได้รับการยอมรับมากมายในวงกว้างดังกล่าวแล้วบางส่วนข้างต้น) รวมทั้งมีความพร้อมในการดำเนินการด้านการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเด็กและเยาวชนผู้ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตอย่างเต็มที่ จึงได้ประชุมระดมความคิดและได้ความเห็นตรงกันว่าจะจัดทำโครงการบริการวิชาการแก่สังคมเพื่อสนองพระราชดำริของ
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตามพระราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ว่า “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา ได้แก่ (1) มีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง (2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง (3) มีงานทำ มีอาชีพ และ (4) เป็นพลเมืองดีมีระเบียบวินัย ทั้งนี้เพื่อพัฒนาให้เด็กและเยาวชนเป็นคนดีของสังคมนั่นเอง
สำหรับโครงการบริการวิชาการที่ทางคณจารย์ภาควิชาหลักสูตรและการสอน จะร่วมกันดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อสนองพระราชดำริฯ นั้น คือ “โครงการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม ในโครงการกองทุนการศึกษาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ พื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์” ในลักษณะการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
(ในส่วนของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ทั้งในส่วนของ สพฐ., สพม. และ สพป. ในพื้นที่เป้าหมาย) กระทรวงวัฒนธรรม (ในส่วนของศูนย์คุณธรรม) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ในส่วนของ พม. และ พอช. จังหวัดพื้นที่เป้าหมาย) กระทรวงมหาดไทย (อบจ./อบต./เทศบาลในจังหวัดพื้นที่เป้าหมาย) รวมทั้งหน่วยงานราชการและองค์กรเอกชนอื่น ๆ ตลอดจนบ้าน วัด และโรงเรียนในพื้นที่ ที่จะเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืนโดยผ่านทางกระบวนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม ซึ่งจะเกิดผลลัพธ์คือเด็กดีสร้างได้ คุณธรรมทุกพื้นที่ ความดีทั้งโรงเรียน ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง และสังคมคุณภาพในที่สุด โดยจะดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 2 จังหวัด ของประเทศไทย ได้แก่ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เพื่อพัฒนาโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษาในพื้นที่เป้าหมายให้เป็นโรงเรียนคุณธรรมและเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงคุณธรรมต้นแบบของจังหวัดนั้น ๆ เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับศึกษาดูงานและเป็นพี่เลี้ยงในการต่อยอดขยายผลโครงการในระดับจังหวัดและภูมิภาคต่อไป ทั้งนี้เพื่อสร้างคนดีให้บ้านเมืองบนฐานคิดที่ว่า "การศึกษาคือเครื่องมือในการพัฒนาคนนั่นเอง และประเทศจะพัฒนาไปได้ก็ต้องพัฒนาคนก่อน ซึ่งเมื่อคนได้รับการพัฒนา กล่าวคือ มีอาวุธทางปัญญา สามารถคิดวิเคราะห์ แยกแยะ และคิดวิจารณญาณได้แล้วพฤติกรรมเชิงลบที่เป็นปัญหาอยู่ดังเช่นสถานการณ์ในปัจจุบันก็จะเปลี่ยนไป ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมก็จะลดน้อยลงไปได้ ดังนั้น กระบวนการพัฒนาเด็กให้เติบโตไปเป็นพลเมืองดีจึงต้องผ่านทางกระบวนการจัดการศึกษา ซึ่งเด็กในโรงเรียนก็จะได้รับการพัฒนาทั้ง IQ, EQ และ MQ อย่างต่อเนื่องเป็นระบบตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และตลอดช่วงชีวิตผ่านกิจกรรมที่หลากหลายและสร้างสรรค์โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของบ้าน วัด โรงเรียน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจนกระทั่งเกิดสังคมที่อุดมไปด้วยคนดีในที่สุด" รวมทั้งเพื่อสนองพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 อีกด้วย โดยใช้กระบวนการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพครูให้เป็นต้นแบบ (Role Model) แห่งความดีงามของนักเรียน และเพื่อให้ครูสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงบูรณาการความรู้คู่ความดี รวมทั้งกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กพัฒนากระบวนการคิด ตลอดจนเรียนรู้การทำความดีจากการลงมือปฏิบัติ (Learning by doing) อย่างหลากหลายและสร้างสรรค์ด้วยความต่อเนื่องและสม่ำเสมอโดยผ่านกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมที่เป็นวิถีชีวิต และโครงงานคุณธรรม (Moral Project) ทั้งนี้เพื่อพัฒนาโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษาในพื้นที่เป้าหมายให้เป็นโรงเรียนคุณธรรมและต้นแบบแหล่งเรียนรู้เชิงคุณธรรม และสามารถต่อยอดขยายผลได้ในวงกว้างในพื้นที่จังหวัดและภูมิภาคนั้น ๆ และยังเป็นการป้องกันปัญหาพฤติกรรมเชิงลบ ตลอดจนส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีงามของเยาวชนผู้ที่จะเป็นอนาคตของชาติ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างคุณธรรม (ภูมิคุ้มกัน/วัคซีนชีวิต) ค่านิยมที่ดีงามของสังคมไทย และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ด้วยการให้สถานศึกษาพัฒนาคุณธรรมของผู้เรียน โดยเน้นคุณธรรมพื้นฐานในการดำเนินชีวิต และลดปัญหาสังคม พัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มีความรู้คู่คุณธรรม ใช้หลักการทางศาสนธรรมในการดำรงชีวิต รวมทั้งสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ซึ่งในระหว่างการดำเนินโครงการฯ จะมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารโครงการ ผู้ประสานงาน และผู้แทนหน่วยงานที่ร่วมดำเนินโครงการไปนิเทศ กำกับ ติดตาม เสริมหนุน และสร้างขวัญกำลังใจตลอดการดำเนินโครงการด้วยความเป็นกัลยาณมิตร (ในลักษณะเพื่อนคู่คิด มิตรคู่ใจ : Coaching & Mentoring) รวมไปถึงจัดให้มีการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในลักษณะการวิจัยที่เรียกว่าการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ในพื้นที่จริงร่วมด้วย

Impact Level
Impact

1. ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของตนเองในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน มีทักษะในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน รวมทั้งช่องทางและกระบวนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม
2. มีโรงเรียนต้นแบบแหล่งเรียนรู้เชิงคุณธรรมในพื้นที่เกิดขึ้น สำหรับศึกษาดูงานและเผยแพร่ขยายผล
3. มีผู้บริหารดี ครูดี และมีเด็กดีสร้างได้เกิดขึ้นทุกโรงเรียนของพื้นที่เป้าหมาย
4. เกิดพลังร่วมในการทำงานเพื่อสนองพระราชดำริฯ ตลอดจนเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่นั้น ๆ เพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเด็กและเยาวชน